สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในภาคภาษาอังกฤษเรียกว่า OFFICE OF THE BOARD OF INVESTMENT (BOI) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2502 มีหน้าที่และรับผิดชอบในการส่งเสริมการลงทุน โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุน ชักชวนและระดมเงินทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ เพื่อเพิ่มพูนฐานะทางด้านเศรษฐกิจให้มั่นคง ด้วยมาตรการให้สิทธิและประโยชน์ 2 ด้าน โดยมีเงื่อนไขที่กำหนดและจะต้องปฏิบัตตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
การขอรับส่งเสริมการลงทุน
โครงการทุกๆโครงการที่มาการขอรับส่งเสริมการลงทุนต้องมีสาระสำคัญคือจะต้องเป็นโครงการที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดไว้ จึงจะสามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการเป็นผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนได้ โครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน นอกจากจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนแล้ว ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งที่เกี่ยวกับภาษีอากรและที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากรอีกด้วย แต่ทั้งนี้ ผู้ได้รับส่งเสริมจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเป็นผู้ได้รับส่งเสริม และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิประโยชน์ในแต่ละเรื่องโดยเคร่งครัด ซึ่งโครงการแต่ละโครงการอาจได้รับสิทธิและประโยชน์แตกต่างกันไปบ้าง ตามประเภทกิจการสถานที่ตั้งโรงงาน และนโยบายส่งเสริมการลงทุนในช่วงเวลานั้น ๆ แต่ผู้ได้รับส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิประโยชน์นั้น ๆ ไปจนสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริม แม้ว่าในภายหลังอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการให้สิทธิประโยชน์ไปเป็นอย่างอื่นก็ตาม และภายหลังจากสิทธิและประโยชน์ทางด้านภาษีอากรสิ้นสุดลง ผู้ได้รับส่งเสริมยังคงมีสถานะเป็นผู้ได้รับส่งเสริมอยู่ โดยยังคงได้รับหลักประกันการคุ้มครองตามกฎหมาย และยังมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในบัตรส่งเสริมตลอดไป จนกว่าจะขอยกเลิกบัตรส่งเสริมนั้น
ขั้นตอนการขอรับส่งเสริม
ผู้ที่จะได้รับการส่งเสริม จะต้องเป็นบริษัท สหกรณ์ หรือมูลนิธิที่จดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในการยื่นคำขอรับการส่งเสริม จะยื่นในนามบุคคลก่อน แล้วจึงจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในภายหลังก่อนที่จะขอรับบัตรส่งเสริมก็ได้
การขอรับการส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้
1. การยื่นคำขอรับการส่งเสริม
2. การชี้แจงโครงการ
3. การตอบรับการส่งเสริม
4. การขอรับบัตรส่งเสริม
1. การยื่นคำขอรับส่งเสริม
คำขอรับส่งเสริมมี 3 ประเภท ดังนี้
1. คำขอรับส่งเสริมทั่วไป
2. คำขอรับส่งเสริมกิจการบริการ
3. คำขอรับส่งเสริมกิจการซอฟต์แวร์และ E-Commerce
คำขอรับการส่งเสริมทั้ง 3 ประเภท สามารถดำเนินการขอรับจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ใหญ่ที่กรุงเทพฯ หรือจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็ได้
คำขอรับการส่งเสริมทั้ง 3 ประเภทนี้ มีทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยในการกรอกข้อมูลในคำขอรับการส่งเสริม จะกรอกเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้
2. การชี้แจงโครงการ
หลังจากยื่นคำขอรับการส่งเสริมแล้ว ผู้ขอรับการส่งเสริมจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ของกองบริหารงานสิทธิและประโยชน์ (หมวดที่1-7) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคำขอนั้น ๆ เพื่อนัดหมายกำหนดวันชี้แจงโครงการ จากนั้น ผู้ขอรับการส่งเสริมจะต้องเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน หรืออาจมอบหมายให้ผู้อื่นไปชี้แจงโครงการแทนก็ได้
ในการชี้แจงโครงการ ผู้ขอรับการส่งเสริมควรนำบุคคลที่มีความเข้าใจรายละเอียดของโครงการที่ขอรับการส่งเสริม ทั้งในด้านการผลิต การเงิน และการตลาด ร่วมเดินทางไปชี้แจงโครงการด้วย เนื่องจากจะทำให้การชี้แจงโครงการมีความถูกต้องชัดเจน และจะทำให้การพิจารณาคำขอรับการส่งเสริมเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
กรณีที่ข้อมูลในคำขอรับการส่งเสริมไม่ชัดเจนหรือไม่ถูกต้อง ผู้ขอรับการส่งเสริมสามารถแก้ไขข้อมูลดังกล่าว โดยการยื่นเอกสารขอแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง หรืออาจใช้วิธีแก้ไขข้อมูลในคำขอรับการส่งเสริมโดยตรงพร้อมกับลงนามกำกับก็ได้ แต่ทั้งนี้ การแก้ไขคำขอโดยการลงนามกำกับ อาจทำให้ต้นฉบับที่ยื่นต่อ BOI และต้นฉบับที่บริษัทเก็บรักษาไว้เกิดความแตกต่างกัน และอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้อื่นที่จะต้องมาสานงานต่อในภายหลังก็ได้ ดังนั้น จึงควรใช้วิธีแก้ไขและลงนามกำกับ เฉพาะในกรณีที่ไม่เป็นสาระสำคัญของโครงการเท่านั้น
3. การตอบรับการส่งเสริม
เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาและมีมติอนุมัติ/ไม่อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการนั้นแล้ว BOI จะแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการให้ผู้ได้รับการส่งเสริมทราบทางไปรษณีย์ ภายใน 15 วันนับจากวันที่คณะกรรมการมีมติ ในกรณีที่คณะกรรมการมีมติไม่อนุมัติให้การส่งเสริม ผู้ขอรับส่งเสริมสามารถยื่นอุทธรณ์มติดังกล่าวได้ภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับทราบมติ
ในกรณีที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติให้การส่งเสริม ผู้ขอรับส่งเสริมจะต้องยื่นเอกสารตอบรับการส่งเสริม ภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ได้รับทราบมติ หรืออาจขอขยายเวลาการตอบรับการส่งเสริมออกไปอีกก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด
กรณีที่ผู้ขอรับส่งเสริมไม่ยื่นตอบรับการส่งเสริม และไม่ยื่นขอขยายระยะเวลาการตอบรับการส่งเสริมภายในเวลาที่กำหนด จะถือว่าผู้ขอรับส่งเสริมไม่มีความประสงค์จะเป็นผู้ได้รับการส่งเสริม
4. การขอรับบัตรส่งเสริม
ภายหลังจากตอบรับการส่งเสริมแล้ว ผู้ขอรับส่งเสริมจะต้องจัดตั้งบริษัท (เฉพาะกรณีที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมในนามบุคคล) และเพิ่มทุนจดทะเบียนตามเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสือแจ้งมติ จากนั้น จะต้องจัดเตรียมเอกสารประกอบการออกบัตรส่งเสริม และยื่นแบบคำร้องเพื่อขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน ภายในกำหนด 6 เดือน นับจากวันที่ตอบรับการส่งเสริม หรืออาจขอขยายเวลาการยื่นเอกสารเพื่อขอรับบัตรส่งเสริมออกไปอีกก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนดไว้
สิทธิและประโยชน์ที่จะได้รับจากขอรับส่งเสริมการลงทุน มีดังนี้
1. สิทธิและประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่ไม่เกี่ยวกับด้านภาษีอากร
1.1 มาตรา 25 อนุญาตให้นำช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการ/ครอบครัว เข้ามาในราชอาณาจักร ปฏิบัติงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริม เพื่อมาถ่ยทอดเทคโนโลยีและฝึกสอนให้คนไทยรับช่วงงานต่อไป
1.2 มาตรา 26 อนุญาตให้ช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการ/มีใบอนุญาตทำงานตามหน้าที่และกำหนดเวลาตามมาตรา 25
1.3 มาตรา 27 อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งโรงงาน กรณีที่เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนในประเทศไทย
1.4 มาตรา 37 อนุญาตให้นำหรือส่งเงินออกนอกราชอาณาจักรเป็นเงินตราต่างประเทศได้
2. สิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากร
2.1 มาตรา 28 ให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
2.2 มาตรา 29 ให้ลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์กึ่งหนึ่งแต่เครื่องจักรนั้นจะต้องอากรขาเข้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10
2.3 มาตรา 30 ให้ลดหย่อนอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 90 สำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ
2.4 มาตรา 31 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ เป็นจำนวนปีตั้งแต่ 3 ปีแต่ไม่เกิน 8 ปี ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งโรงงาน และจะจำกัดวงเงินหรือไม่ขึ้นอยู่กับกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
2.5 มาตรา 34 ให้ยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลของผู้ถือหุ้นไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตลอดระยะเวลาตามมาตรา 31
2.6 มาตรา 36 (1) ให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ผลิตเพื่อส่งออก เป็นเวลา 1 ปีหรือ 5 ปีแล้ว แต่สถานที่ตั้งโรงงาน และขอขยายเวลาได้ทุกปี
2.7 มาตรา 36 (2) ให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อส่งกลับออกไป ตามระยะเวลาตามมาตรา 36 (1)
กิจการที่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริม
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแบ่งประเภทกิจการที่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมไว้ด้วยกัน 7 หมวด และมีเงื่อนไขกำหนดไว้แต่ละประเภทกิจการ แต่ทั้งนี้หากพิจารณาเห็นว่ากิจการใดที่ไม่อยู่ในหมวดที่กำหนดไว้มีความสำคัญและควรให้การส่งเสริมก็จะพิจารณาประกาศให้เป็นกิจการที่ให้การส่งเสริมก็ได้ กิจการ 7 หมวดที่กำหนดไว้มีดังนี้
หมวด 1 เกษตรและผลิตผลจากการเกษตร (Agriculture & Agricultural Products)
หมวด 2 เหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน (Mining, Ceramics & Basic Metals)
หมวด 3 อุตสาหกรรมเบา (Light Industry)
หมวด 4 ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง (Metal Products, Machinery & Transport Equipment)
หมวด 5 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (Electronics Industry & Electrical Appliances)
หมวด 6 เคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก (Chemicals, Paper & Plastics)
หมวด 7 กิจการบริการและสาธารณูปโภค (Services & Public Utilities)
ป้ายกำกับ : BOI-Advisor
-------------------------------------------------------------------------Boi -Advisor
ติอต่อ คุณฉลาด รักรู้
มือถือ : 084-7058560
Email : winyour2011@gmail.com Website : boiadvisor.blogspot.com