.

ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit)


ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคนต่างด้าว :

คนต่างด้าว หมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

ทำงาน หมายถึง การทำงานโดยใช้กำลังกายหรือความรู้ด้วยประสงค์ค่าจ้าง หรือประโยชน์อื่นใดหรือไม่ก็ตาม

ใบอนุญาต หมายความว่า ใบอนุญาตทำงาน

ผู้รับใบอนุญาต หมายความว่า  คนต่างด้าวซึ่งได้รับใบอนุญาต

ลูกจ้าง  หมายความว่า  ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 9 มาตรา 11 มาตรา 13 (1) และ (2) และมาตรา 14 ให้ทำงานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 15 (เป็นลูกจ้างที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นประกันค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างกลับออกไปนอกราชอาณาจักร)


ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 9 หมายความว่า  คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตาม กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  จำแนกเป็น 4 ประเภท ดังนี้  

(1)  ประเภททั่วไป  หมายถึง คนต่างด้าวที่เป็นแรงงานที่มีทักษะและทำงานอยู่ในตำแหน่งค่อนข้างสูง หรืออาจ ถูกส่งมาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือเข้ามาทำงานชั่วคราวในงานที่ต้องใช้ทักษะ และเทคโนโลยีชั้นสูง  เป็นความต้องการผู้ที่มีความสามารถเฉพาะด้าน มีความชำนาญเฉพาะด้าน หรือมีความสามารถ ทางการสื่อสาร (ภาษา) ที่ยังหาคนไทยที่มีความสามารถ  หรือมีความชำนาญเข้ามาร่วมงานไม่ได้  หรือเป็นการเข้ามา ทำงานในกิจการที่ตนเองลงทุน หรือกิจการของคู่สมรส หรือกิจการที่ร่วมลงทุน  เป็นต้น  ส่วนใหญ่ทำงานในกิจการ ดังนี้
       -  กิจการที่มีการลงทุนตั้งแต่  2 ล้านขึ้นไป
       -  กิจการที่มีการลงทุนมากกว่า  30 ล้านขึ้นไป
       -  มูลนิธิ/สมาคม/องค์การเอกชนต่างประเทศ  

(2)  ประเภทเข้ามาทำงานอันจำเป็นเร่งด่วน หมายถึง คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นงานที่ต้องดำเนินการโดยทันทีทันใด หากไม่เร่งดำเนินการอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินกิจการของบริษัทหรือลูกค้าของบริษัท หรือส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยไม่มีแผนการดำเนินการล่วงหน้ามาก่อน และต้องเข้ามาทำงานนั้น ในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน

(3)  ประเภทตลอดชีพ  หมายถึง คนต่างด้าวซึ่งได้รับใบอนุญาตทำงานตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับ ที่ ๓๒๒ ข้อ ๑๐ (๑๐) มีสาระสำคัญว่า “ใบอนุญาตที่ออกให้แก่คนต่างด้าวซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตาม กฎหมาย ว่าด้วยคนเข้าเมืองและทำงานอยู่แล้วก่อนวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ให้ใช้ได้ตลอดชีวิตของคนต่างด้าวนั้น เว้นแต่คนต่างด้าวจะเปลี่ยนอาชีพใหม่”

(4)  ประเภทข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานกับประเทศคู่ภาคี  ได้แก่

(4.1) พิสูจน์สัญชาติ หมายถึง แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการจัดระบบตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ 7 ยุทธศาสตร์ โดยดำเนินการตามประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1. การจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าว หลักการคือ ปรับสถานภาพแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้เป็นแรงงานเข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย เปิดโอกาสให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าว มารายงานตัวเพื่อจัดส่งรายชื่อให้ประเทศต้นทางพิสูจน์ และรับรองสถานะ เพื่อปรับเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป โดยมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวระหว่างรอการส่งกลับ อนุญาตให้ทำงานได้ 2 งาน คือ งานกรรมกรและคนรับใช้ในบ้าน มีใบอนุญาตทำงานบัตรสีชมพู และต้องปรับเปลี่ยนสถานะโดยการพิสูจน์สัญชาติจาดเจ้าหน้าที่ประเทศต้นทางเพื่อรับเอกสารรับรองสถานะ ได้แก่ หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport)1 หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate Of Identity) เป็นต้น และขออนุญาตทำงาน ได้รับใบอนุญาตทำงานเป็นชนิดบัตรสีเขียว

(4.2) แรงงานนำเข้า หมายถึง คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างด้าวระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ภาคี (MOU) ปัจจุบันทำข้อตกลงกับประเทศ 2 ประเทศ คือ ลาว และกัมพูชา

ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 11  หมายถึง  คนต่างด้าวซึ่งยังไม่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งนายจ้างยื่นคำขอรับใบอนุญาตและชำระค่าธรรมเนียมแทน โดยเข้ามาทำงานที่มีทักษะและตำแหน่งค่อนข้างสูง หรืองานที่ต้องใช้ทักษะและเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นผู้ที่มีความสามารถหรือความชำนาญเฉพาะด้าน หรือมีความสามารถทางการสื่อสาร (ภาษา) ที่ยังหาคนไทยที่มีความสามารถหรือ มีความชำนาญเข้ามาร่วมงานไม่ได้ เมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ต้องดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานภายใน 30 วัน 

ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 13 (1) และ (2)  หมายถึง คนต่างด้าว ต่อไปนี้  

(1) คนต่างด้าวถูกเนรเทศตามกฎหมายว่าด้วยการเนรเทศ และ ได้รับการผ่อนผันให้ไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใดแทนการเนรเทศหรืออยู่ในระหว่างรอการเนรเทศ

(2) เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 14 หมายถึง คนต่างด้าวซึ่งมีภูมิลำเนาและเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย  ถ้าได้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง อาจได้รับอนุญาตให้ทำงานบางประเภทหรือลักษณะงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลที่กำหนดได้ ทั้งนี้ เฉพาะการทำงานภายในท้องที่ที่อยู่ติดกับชายแดนหรือท้องที่ต่อเนื่องกับท้องที่ดังกล่าว

ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12  หมายถึง คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายพิเศษ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายอื่น (พ.ร.บ. การนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น)

คนต่างด้าวประสงค์จะทำงานในประเทศไทย ต้องปฏิบัติดังนี้
1. คนต่างด้าวที่ยังไม่ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ประสงค์จะทำงานในประเทศไทย
   1.1 ต้องไปติดต่อขอวีซ่า Non-Immigrant B  ณ สถานทูตไทยประจำประเทศนั้น ๆ
   1.2 กรณีไปขอวีซ่า Non-Immigrant แล้ว สถานทูตไทยต้องการหนังสือรับรองการอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว
ให้นายจ้างดำเนินการยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ตามแบบคำขอ ตท.3 พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบแบบตามที่กำหนด  ณ สำนักงานของกรมการจัดหางาน ซึ่งสถานประกอบการของนายจ้างนั้นตั้งอยู่
             – ในเขตกรุงเทพมหานครให้ติดต่อสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน
             – ในต่างจังหวัดติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด  ซึ่งสถานประกอบการของนายจ้างนั้นตั้งอยู่
   1.3  นำหนังสือแจ้งผลพิจารณาอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ที่นายจ้างส่งให้ไปประกอบการยื่นขอวีซ่า Non-Immigrant B ที่สถานทูตไทยประจำประเทศนั้น ๆ
   1.4  เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วต้องไปติดต่อยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานตาม มาตรา 8 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร  พร้อมทั้งยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม  ดังนี้
             – สำเนา หนังสือเดินทาง  หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว  โดยถ่ายสำเนาทุกหน้าพร้อมรายการ แสดงการประทับตราให้อยู่ในราชอาณาจักรประเภทคนอยู่ชั่วคราว มิใช่ประเภทนักท่องเที่ยวหรือ ผู้เดินทางผ่าน พร้อมฉบับจริง
             – หนังสือแจ้งการพิจารณาอนุญาตให้เข้ามาทำงานได้ (ต้นฉบับ)
             – ใบรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม  ซึ่งรับรองว่าผู้ขอไม่มีโรคตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว

2. คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ประสงค์จะทำงาน ทั้งในกรณีจะขออนุญาตทำงานครั้งแรก หรือ กรณีใบอนุญาตเดิมขาดต่ออายุจึงต้องขอใหม่
   2.1  คนต่างด้าวต้องมีคุณสมบัติ  ดังนี้
              – มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (มีหลักฐานในสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว) หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว (Non-Immigrant Visa) ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยมิใช่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยว (Tourist  Visa) หรือผู้เดินทางผ่าน (Transit  Visa)
              – มีความรู้และความสามารถในการทำงานตามที่ขออนุญาต
              – ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3
              – ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวภายในระยะเวลา 1 ปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต
   2.2  ต้องไปติดต่อยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานตามแบบคำขอ พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบแบบคำขอตามที่กำหนด ณ สำนักงานของกรมการจัดหางาน ซึ่งสถานประกอบการของนายจ้างนั้นตั้งอยู่
              – ในเขตกรุงเทพมหานครให้ติดต่อสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน
              – ในต่างจังหวัดติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด  ซึ่งสถานประกอบการของนายจ้างนั้นตั้งอยู่


การกำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพ ที่ห้ามคนต่างด้าวทำ

(1) งานกรรมกร 
(2) งานกสิกรรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญ งานเฉพาะสาขา หรืองานงานควบคุมดูแลฟาร์ม
(3) งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น
(4) งานแกะสลักไม้
(5) งานขับขี่ยานยนต์ หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกล ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ
(6) งานขายของหน้าร้าน 
(7) งานขายทอดตลาด 
(8) งานควบคุม ตรวจสอบหรือให้บริการบัญชี ยกเว้น งานตรวจสอบภายในชั่วคราว 
(9) งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย 
(10) งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย 
(11) งานทอผ้าด้วยมือ 
(12) งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง หรือเยื่อไม้ไผ่ 
(13) งานทำกระดาษสาด้วยมือ
(14) งานทำเครื่องเขิน
(15) งานทำเครื่องดนตรีไทย
(16) งานทำเครื่องถม
(17) งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก 
(18) งานทำเครื่องลงหิน
(19) งานทำตุ๊กตาไทย 
(20) งานทำที่นอนผ้าห่มนวม 
(21) งานทำบัตร 
(22) งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ
(23) งานทำพระพุทธรูป 
(24) งานทำมีด 
(25) งานทำร่มด้วยกระดาษหรือผ้า
(26) งานทำรองเท้า 
(27) งานทำหมวก 
(28) งานนายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้น งานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
(29) งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการ ทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ไม่รวมที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ 
(30) งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบเขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ
(31) งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย
(32) งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา 
(33) งานมวนบุหรี่ด้วยมือ 
(34) งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว 
(35) งานเร่ขายสินค้า 
(36) งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ 
(37) งานสาวและบิดเกลียวไหมด้วยมือ 
(38) งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ
(39) งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี

**หมายเหตุ ตามมติคณะรัฐมนตรี ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) ทำงานได้ 2 อาชีพ คือ 1. งานกรรมกร และ 2. งานรับใช้ในบ้าน

อัตราค่าธรรมเนียม
1.การยื่นคำขอ    
ฉบับละ    100 บาท
2.ใบอนุญาต

    – ใบอนุญาตที่มีอายุเกิน 3 เดือน                                     
ฉบับละ    750 บาท
    - ใบอนุญาตที่มีอายุเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน                 
ฉบับละ 1,500 บาท
    - ใบอนุญาตที่มีอายุเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกินหนึ่งปี                   
ฉบับละ 3,000 บาท
3.การต่ออายุใบอนุญาตหรือการขยายระยะเวลาการทำงาน

   - ในกรณี ไม่เกิน 3 เดือน                                               
ฉบับละ    750 บาท
   - ในกรณี เกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน                              
ฉบับละ 1,500 บาท
   - ในกรณี เกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี                                 
ฉบับละ 3,000 บาท
4.ใบแทนใบอนุญาต                                                  
ฉบับละ    500 บาท
5.การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มลักษณะงาน                                        
ครั้งละ   1,000 บาท
6.การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มนายจ้าง   
ครั้งละ   3,000 บาท
7.การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มท้องที่หรือสถานที่ทำงาน                                        
ครั้งละ   1,000 บาท
8.การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มเงื่อนไขในการอนุญาต       
ครั้งละ      150 บาท

ป้ายกำกับ : archeep-free

-------------------------------------------------------------------------Boi -Advisor                                                                                                                                                                                                                                                
ติอต่อ คุณฉลาด รักรู้
มือถือ : 094-478-3987
Email : winyour2011@gmail.com    Website : boiadvisor.blogspot.com