.

การนำเข้าวัตถุดิบ

ตามประกาศสำนักงานฯ ที่ ป.1/2546 ลงวันที่ 16 มกราคม 2546 เรื่องคำจำกัดความของส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ โครงโรงงานสำเร็จรูป วัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ได้ระบุคำจำกัดความของวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ไว้ดังนี้
วัตถุดิบ (Raw Material) หมายถึง ของที่ใช้ในการผลิต หรือผสม หรือประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งบางครั้งอาจไม่คงสภาพเดิมเมื่อผ่านกระบวนการแล้ว ทั้งนี้ให้หมายรวมถึงของที่ใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ด้วย
วัสดุจำเป็น (Essential Material) หมายถึง ของซึ่งจำเป็นต้องใช้และเมื่อใช้แล้วสิ้นเปลืองในการผลิต หรือผสม หรือประกอบเป็นผลิตภัณฑ์หรือผลิตผล เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ คุณภาพ และมาตรฐาน ช่วยลดการสูญเสีย และเพิ่มผลผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลดังกล่าว
----------------------------
วัตถุดิบและวัสดุจำเป็น อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. วัตถุดิบหมุนเวียน (Revolving-Stock Material) หมายถึง วัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาโดยได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 36(1) เพื่อผลิตเป็นสินค้าตามกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมตาม ปกติ สามารถนำเข้าโดยใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรได้ตลอดระยะเวลาที่ได้รับสิทธิ ประโยชน์ตามมาตรา 36(1)
2. วัตถุดิบไม่หมุนเวียน (Non-Revolving-Stock Material) ได้แก่ วัตถุดิบและวัสดุจำเป็นทุกชนิดที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 30 และวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ได้รับสิทธิตามมาตรา 36(1) แต่เป็นการผ่อนผันให้นำเข้าในปริมาณที่จำกัด หรือผ่อนผันให้นำเข้าเป็นการชั่วคราว
----------------------------
มาตรา 36(1) หมายถึงการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ต้องนำเข้ามาจาก ต่างประเทศ เพื่อใช้ผลิต ผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์ หรือผลิตผล เฉพาะที่ใช้ในการส่งออก
มาตรา 36(2) หมายถึงการยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับของที่ผู้ได้รับการส่งเสริมนำเข้ามาเพื่อส่งออกกลับไป เช่น การนำเข้าของตัวอย่างเข้ามาแสดงแล้วส่งกลับคืน เป็นต้น
----------------------------
สูตรการผลิตคืออะไร
สูตรการผลิต หมายถึง ปริมาณการใช้รวมต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น ซึ่งเท่ากับปริมาณการใช้สุทธิต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น บวกปริมาณส่วนสูญเสียต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น สูตรการผลิตจะใช้ในการพิจารณาตัดบัญชีวัตถุดิบเมื่อมีการส่งออก บริษัทที่ได้รับส่งเสริมต้องขออนุมัติสูตรการผลิตของผลิตภัณฑ์ทุกๆแบบที่จะ ผลิตเพื่อส่งออก มิฉะนั้น จะไม่สามารถตัดบัญชีวัตถุดิบได้
----------------------------
ปริมาณสต๊อคสูงสุดหมายถึงอะไร
ปริมาณสต๊อคสูงสุด หมายถึง จำนวนหรือ ปริมาณของวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่พอเพียงสำหรับใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ ได้รับการส่งเสริม ตามกำหนดระยะเวลาที่สำนักงานอนุมัติ โดยสำนักงานฯจะอนุมัติให้เท่ากับ 6 เดือนของกำลังผลิตที่ระบุในบัตรส่งเสริม ปริมาณสต๊อคสูงสุดจะเกี่ยวข้องกับการพิจารณาการนำเข้าวัตถุดิบ

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน www.boi.go.th
ป้ายกำกับ : BOI-Advisor 094-478-3987