.

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (Department of Industrial Works)


Industrial Licensing

Industrial Licensing and Regulations

1.        การออกใบอนุญาตและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพระราชบัญญัติโรงงาน

พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2515, 2518, 2522 และ 2535) กำหนดระเบียบในการก่อสร้างประกอบกิจการ และขยายโรงงาน รวมถึงข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัย  พระราชบัญญัติโรงงานฉบับแก้ไขล่าสุดมีการควบคุมมลพิษที่เกิดจากโรงงานที่เข้มงวด กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่บริหารจัดการและกำกับดูแลเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ

โรงงาน หมายถึง อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ห้าแรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่เจ็ดคนขึ้นไปโดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตามสำหรับทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ ลำเลียงเก็บรักษา หรือทำลายสิ่งใดๆ ทั้งนี้ ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานที่กำหนดในกฎกระทรวง

พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่โรงงานของทางราชการที่ดำเนินการโดยทางราชการเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ เว้นแต่โรงงานดังกล่าวจะใช้พระราชบัญญัติเป็นแนวทางใน
การดำเนินงาน

2.        ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

โรงงานแบ่งออกเป็น 3 จำพวก คือ:
1. โรงงานจำพวกที่ 1 ได้แก่โรงงานที่สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ทันทีโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
2. โรงงานจำพวกที่ 2 ได้แก่โรงงานที่เมื่อจะประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้ผู้อนุญาตทราบก่อน และสามารถประกอบกิจการได้เมื่อได้รับแบบตอบรับจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่าได้รับแจ้งแล้ว
3. โรงงานจำพวกที่ 3 ได้แก่โรงงานที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมก่อนจึงจะดำเนินการได้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถพิจารณาให้ใบรับรองการก่อสร้างโรงงานบางส่วนแก่ผู้ประกอบกิจการก่อนออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้

ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วันก่อนจะเริ่มทดลองเดินเครื่องจักร และล่วงหน้าอีกอย่างน้อย 15 วันก่อนเริ่มการผลิตจริง

หมายเหตุ: โดยทั่วไประดับการควบคุมของรัฐขึ้นอยู่กับระดับของการป้องกันสิ่งแวดล้อมที่เห็นควรว่าจำเป็น โรงงานที่มีแนวโน้มสูงที่จะก่อให้เกิดมลพิษก็จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวด

กระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจในการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ต่างๆ:

-ลักษณะประเภทหรือชนิดของเครื่องจักรเครื่องอุปกรณ์ที่ต้องนำมาใช้ในการประกอบกิจการโรงงาน                
-ที่ตั้งของโรงงานสภาพแวดล้อมของโรงงานลักษณะอาคารของโรงงานหรือลักษณะภายในของโรงงาน
-คนงานซึ่งมีความรู้เฉพาะตามประเภทชนิดหรือขนาดของโรงงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใดประจำโรงงาน
-กรรมวิธีการผลิตและการจัดให้มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือเพื่อป้องกันหรือระงับหรือบรรเทาอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนที่อาจเกิดแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน
-มาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษหรือสิ่งใดๆที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน
-การจัดให้มีข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นของผู้ประกอบกิจการโรงงานเพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย
-กำหนดการอื่นใดเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน

หากมีการตรวจโรงงานหรือเครื่องจักรเพื่อให้แน่ใจว่าปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯหน่วยงานเอกชนสามารถดำเนินการตรวจและรายงานแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้หากหน่วยงานเอกชนปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติฯที่ลงในราชกิจจานุเบกษา

ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นปีปฏิทินปีที่ 5 นับแต่ปีที่เริ่มประกอบกิจการ เว้นแต่โรงงานถูกโอน เช่า เช่าซื้อ หรือ เลิกประกอบกิจการให้ถือว่าใบอนุญาตสิ้นอายุในวันที่ออกใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานรายใหม่หรือวันที่เลิกประกอบกิจการโรงงาน

การขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุพร้อมค่าธรรมเนียม 100,000 บาท เมื่อได้ยื่นคำขอดังกล่าวแล้วให้ถือว่าได้ต่อใบอนุญาตแล้วจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอื่น ในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นอายุแล้วจะต้องยื่นขอต่ออายุภายใน 60 วัน หากยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายใน 60 วันหลังจากที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ กระทรวงจะดำเนินการตามขั้นตอนการขอต่ออายุปกติแต่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 20,000 บาท

3.        การดำเนินกิจการโรงงาน

กระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจในการกำหนด:

-ขนาดและจำนวนของโรงงานแต่ละจำพวกที่ไม่ควรตั้งหรือขยายในพื้นที่ต่างๆในราชอาณาจักร
-ชนิด คุณภาพ แหล่งที่มา และสัดส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ในโรงงาน
-ชนิดและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในโรงงาน
-ชนิดของพลังงานที่ใช้ในโรงงาน

กระทรวงอาจกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ของโรงงานใดๆนำไปใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท หรือส่งออกทั้งสิ้นหรือบางส่วนได้

ถ้าโรงงานจำพวกที่ 2 หรือจำพวกที่ 3 หยุดดำเนินงานติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี ผู้ประกอบกิจการต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 7 วันนับแต่วันพ้นกำหนดหนึ่งปี และต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนเริ่มประกอบกิจการอีกครั้ง ในกรณีของโรงงานจำพวกที่ 3 จะต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนจึงเริ่มประกอบกิจการโรงงานอีกครั้งได้

ในกรณีมีอุบัติเหตุในโรงงานเป็นเหตุให้บุคคลถึงแก่ความตาย เจ็บป่วย หรือบาดเจ็บ ซึ่งภายหลัง 72ชั่วโมงแล้วยังไม่สามารถทำงานในหน้าที่เดิมได้ ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานแจ้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมทราบภายใน 3 วันนับแต่วันตายหรือวันครบกำหนด 72 ชั่วโมง หากอุบัติเหตุเป็นเหตุให้โรงงานต้องหยุดดำเนินงานเกินกว่า 7 วัน ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานแจ้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมทราบภายใน 10 วันนับตั้งแต่วันเกิดอุบัติเหตุ

ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องได้รับอนุญาตหากประสงค์จะย้ายเครื่องจักรบางส่วนที่ติดตั้งในโรงงานไปยังสถานที่อื่นเพื่อประกอบกิจการโรงงานเป็นการชั่วคราว หรือประสงค์จะย้ายที่ตั้งโรงงาน ในกรณีผู้รับใบอนุญาตโอนการประกอบกิจการโรงงาน ให้เช่า หรือให้เช่าซื้อโรงงาน หรือขายโรงงาน ให้ถือว่าใบอนุญาตที่มีอยู่สิ้นอายุ และผู้เช่าหรือผู้เช่าซื้อโรงงาน หรือผู้ซื้อโรงงานนั้นต้องยื่นขอใบอนุญาตใหม่ภายใน 7 วันโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ในกรณีผู้รับใบอนุญาตตาย ให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกยื่นคำขอโอนใบอนุญาตภายใน 90 วันนับแต่วันที่ผู้รับใบอนุญาตตาย

4.        การขยายโรงงาน

ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะขยายโรงงานต้องยื่นขอรับใบอนุญาตขยายโรงงานและได้รับอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการขยายโรงงานได้ ทั้งนี้ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขยายโรงงาน 100,000 บาท  พระราชบัญญัติโรงงานถือว่าการดำเนินการดังต่อไปนี้เป็นการขยายโรงงาน:
-การเพิ่มจำนวน เปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรทำให้มีกำลังรวมเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 50
ขึ้นไป
-การเพิ่มหรือแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารโรงงานทำให้ฐานรากเดิมของอาคารโรงงานฐานใดฐานหนึ่งต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 500 กิโลกรัมขึ้นไป

ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาต:

-เพิ่มจำนวนเครื่องจักร
-เปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตหรือเครื่องจักรที่ใช้เป็นเครื่องต้นกำลังทำให้มีกำลังเพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่าร้อยละ 50
-ก่อสร้างหรือเพิ่มเนื้อที่โรงงานตั้งแต่ 100 ตารางเมตรขึ้นไป

ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 7 วันนับแต่วันที่เพิ่มจำนวนเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หรือเพิ่มเนื้อที่อาคารโรงงาน หรือก่อสร้างอาคารโรงงานนั้นเพิ่มขึ้น

5.        ข้อกำหนดอื่นๆ

โรงงานมีสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณชนอย่างรุนแรงอาจถูกสั่งหยุดประกอบการ หรือแก้ไขหรือปรับปรุง กระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจสั่งให้ย้ายโรงงานบางส่วนหรือทั้งหมดไปยังสถานที่ที่ไม่เป็นภัยคุกคามต่อสาธารณชน พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการตรวจสอบ และออกคำสั่งให้โรงงานหยุดดำเนินการ ปรับเปลี่ยน หรือซ่อมแซมเครื่องจักร หรือดำเนินมาตรการปรับปรุงแก้ไขอื่นๆได้

แม้ว่าผู้ประกอบกิจการจะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอื่นๆของรัฐบาลส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นว่าด้วยการประกอบกิจการอุตสาหกรรมด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถระงับใบอนุญาตได้หากผู้ประกอบกิจการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกภายใต้พระราชบัญญัติ

โรงงานที่ผลิตและจำหน่ายอาหารและยาต้องขอใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขด้วย

การฝ่าฝืนข้อกำหนดบางมาตราของพระราชบัญญัติอาจทำให้ต้องระวางโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี โดยมีคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คนซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่พิจารณาโทษจากการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ หากห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือนิติบุคคลอื่นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการกระทำอันเป็นความผิดนั้นจะต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

ป้ายกำกับ : archeep-free

-------------------------------------------------------------------------Boi -Advisor                                                                                                                                                                                                                                                
ติอต่อ คุณฉลาด รักรู้
มือถือ : 094-478-3987
Email : winyour2011@gmail.com    Website : boiadvisor.blogspot.com